โดยหลักทั่วไปบุคคลยอมมีความสามารถในการทำนิติกรรม แต่มีข้อยกเว้นในเรื่องความสามารถ คือ บุคคลบางประเภทในทางกฎหมายถือว่าหย่อนความสามารถในการทำนิติกรรมสัญญา เช่น ผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ และบุคคลล้มละลาย โดยกฎหมายได้กำหนดความสามารถในการทำนิติกรรมสัญญาของบุคคลเหล่านี้ไว้ ดังนี้
ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมได้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม เว้นแต่นิติกรรมที่ได้มาโดยซึ่งสิทธิโดยสิ้นเชิง หรือเพื่อให้หลุดพ้นหน้าที่ หรือการที่ต้องทำเองเฉพาะตัว หรือกิจกรรมที่สมแก่ฐานานุรูปและจำเป็นในการเลี้ยงชีพ ผู้เยาว์สามารถทำได้ด้วยตัวเอง
คนไร้ความสามารถต้องอยู่ในความอนุบาล กิจการใดๆ ของคนไร้ความสามารถ ผู้อนุบาลซึ่งแต่งตั้งโดยศาลต้องเป็นผู้ทำเองทั้งสิ้น ส่วนคนเสมือนไร้ความสามารถทำกิจการเองได้ทุกอย่าง เว้นแต่กิจกรรมบางอย่างจะทำได้ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ เช่น สัญญาซื้อขายที่ดิน เป็นต้น
บุคคลล้มละลายจะทำนิติกรรมใดๆ ไม่ได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามคำสั่งศาลจะเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทน
ดังนั้น นิติกรรมและสัญญาที่กระทำโดยบุคคลข้างต้น โดยปราศจากความยินยอมจากบุคคลที่กฎหมายกำหนดไว้จะกลายเป็นโมฆียะ ซึ่งอาจถูกบอกล้างได้
ทั้งนี้ในการทำนิติกรรมสัญญาใดๆ นั้น จะต้องไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหาย ไม่เป็นการพ้นวิสัย และต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เพราะถ้าหากฝ่าฝืนหลักการดังกล่าว นิติกรรมสัญญานั้นก็จะถือเป็นโมฆะ หรือใช้ไม่ได้ ไร้ผลบังคับโดยสิ้นเชิง
นิติกรรมสัญญาสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
1.นิติกรรมฝ่ายเดียว ได้แก่ นิติกรรมซึ่งเกิดโดยการแสดงเจตนาของบุคคลฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียวและมีผลตามกฎหมาย ซึ่งบางกรณีก็ทำให้ผู้ทำนิติกรรมเสียสิทธิได้ เช่น การก่อตั้งมูลนิธิ การรับสภาพหนี้ การผ่อนเวลาชำระให้ลูกหนี้ คำมั่นจะซื้อจะขาย การทำพินัยกรรม การบอกกล่าวบังคับจำนอง เป็นต้น
2.นิติกรรมสองฝ่าย(หรือนิติกรรมหลายฝ่าย) ได้แก่ นิติกรรมซึ่งเกิดโดยการแสดงเจตนาของบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไปและทุกฝ่ายต่างตกลงยินยอมระหว่างกัน กล่าวคือ ฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาทำเป็นนำเสนอ แล้วอีกฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาเป็นคำสนอง เมื่อคำเสนอและคำสนองถูกต้องตรงกัน จึงเกิดมีนิติกรรมสองฝ่ายขึ้น หรือเรียกกันว่า สัญญา เช่น สัญญาซื้อขาย สัญญากู้ยืม สัญญาแลกเปลี่ยน สัญญาขายฝาก จำนอง จำนำ เป็นต้น
นิติกรรมสัญญาจะพบบ่อยและมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของบุคคล เนื่องจากทำให้เราหาสิ่งที่ต้องการมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ หรือหลักประกันความมั่นคงในการติดต่อระหว่างเรากับผู้อื่น
1. สัญญาซื้อขาย
สัญญาซื้อขาย ได้แก่ สัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า ผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์หรือความเป็นเจ้าของเหนือทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า ผู้ซื้อ โดยผู้ซื้อตกลงจะให้ราคาทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ขาย (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 453) สัญญาซื้อขายมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิดคือ
1.สัญญาซื้อขายสำเร็จบริบรูณ์หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด คือ สัญญาที่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโอนไปยังผู้ซื้อทันทีอย่างเด็ดขาด เมื่อการซื้อขายสำเร็จบริบรูณ์
2.สัญญาจะซื้อจะขาย คือ สัญญาที่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อในขณะที่ทำสัญญาซื้อขายกัน แต่เป็นสัญญาซึ่งจะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อ ในเวลาภายหน้าเป็นการแลกเปลี่ยนกับเงินอันเป็นราคาของทรัพย์สิน มีผลผูกพันให้แก่คู่สัญญาต้องทำการซื้อขายให้สำเร็จตลอดไป |